top of page

ลักษณะทั่วไปของทวีปอเมริกาใต้

          ทวีปอเมริกาใต้มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางซีกโลกใต้   เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง มีที่ราบเฉพาะเขตชายฝั่งและลุ่มแม่น้ำ  ภูมิอากาศมีทั้งเขตร้อนและเขตอบอุ่น   ซึ่งเหมาะแก่การดำรงชีวิต  จึงเป็นทวีปที่มีประชากรอาศัยอยู่มากแห่งหนึ่งของโลก   แต่เนื่องจากความแตกต่างทางด้านสังคม การเมือง และปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของประชากร   ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งๆที่อยู่ใกล้ชิดติดต่อกับทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นทวีปที่พัฒนาและเจริญก้าวหน้ามากในทุกๆด้าน
          ทวีปอเมริกาใต้ เป็นทวีปที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางซีกโลกใต้  โดยมีเส้นศูนย์สูตรและเส้นทรอปิกออฟแคปริคอร์นลากผ่าน ซึ่งแสดงว่าทวีปอเมริกาใต้มีลักษณะภูมิอากาศทั้งเขตร้อนและเขตอบอุ่น ทวีปอเมริกาใต้เป็นที่ทวีปที่มีความแตกต่างกันทางด้านกายภาพมากแห่งหนึ่งของโลก  กล่าวคือ  เป็นดินแดนที่มีระบบภูเขาซึ่งมีแนวต่อเนื่องกันยาวที่สุดในโลก  และมีที่ราบลุ่มแม่น้ำที่ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นที่กว้างขวางที่สุดในโลก ขณะที่ดินแดนบางส่วนของทวีปนี้มีอากาศแห้งแล้งมาก นอกจากนี้ประชากรในทวีปอเมริกาใต้ ยังมีความหลากหลายในด้านเชื้อชาติและการดำเนินชีวิต  คือ  มีทั้งชาวอินเดียน   ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมชาวสเปนและโปรตุเกสซึ่งเป็นพวกผิวขาว พวกผิวดำชาวแอฟริกา พวกผิดเหลืองชาวเอเชีย  ซึ่งเป็นผู้อพยพเข้ามาอยู่ใหม่ และพวกเมติโซซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์เลือดผสม ส่วนวิถีการดำเนินชีวิต มีตั้งแต่สภาพความเป็นอยู่ตามธรรมชาติแบบเก่าแก่ดั้งเดิม จนกระทั่งการมีชีวิตที่ทันสมัยแบบชาวเมืองยุโรป

ภูมิศาสตร์ทวีปอเมริกาใต้

เลื่อนลง เพื่อดูเนื้อหา

คลิ๊กเลือก สารบัญที่ด้านขวาของเว็บ

SA ลักษณะทั่วไป
SA กายภาพ

ลักษณะทางกายภาพของอเมริกาใต้

1.ที่ตั้ง
ทวีปอเมริกาใต้ตั้งอยู่ระหว่างละติจูดประมาณ 12-56 องศาใต้ และลองจิจูดประมาณ 34-81  องศาตะวันตก พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางซีกโลกใต้ มีพื้นที่ส่วนน้อยที่อยู่ทางซีกโลกเหนือ

2.อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับทวีปอเมริกาเหนือ ทะเลแคริบเบียน และมหาสมุทรแอตแลนติก  เกาะที่สำคัญทางตอนเหนือของทวีป ได้แก่ เกาะตรินิแดด เกาะโตเบโก
ทิศตะวันออก ติดต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติก
ทิศใต้ ติดต่อกับช่องแคบเดรค (Drake Passage) ซึ่งเป็นน่านน้ำที่คั่นทวีปอเมริกาใต้กับทวีปแอนตาร์กติกา  เกาะใหญ่ทางใต้สุด คือ เกาะเตียร์ราเดลฟิวโก (Tierra del Fuego) โดยมีช่องแคบแมกเจลแลนด์คั่นกับแผ่นดินใหญ่ เกาะฟอล์กแลนด์ของอังกฤษ ซึ่งเป็นเกาะที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิก และคลองปานามา เกาะสำคัญทางตะวันตก ได้แก่ หมู่เกาะกาลาปากอส

3.ขนาด
ทวีปอเมริกาใต้มีพื้นที่ประมาณ 17,819,647 ตารางกิโลเมตร เป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่  4 ของโลกรองจากทวีปเอเชีย แอฟริกาและอเมริกาเหนือ  มีความยาววัดจากทิศเหนือสุดถึงทิศใต้สุดได้ประมาณ 7,360 กิโลเมตร และมีความกว้างที่สุดวัดจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกได้ประมาณ 5,180 กิโลเมตร
ทวีปอเมริกาใต้มีรูปร่างคล้ายคลึงกับทวีปอเมริกาเหนือ คือ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีฐานกว้างอยู่ทางทิศเหนือ และมียอดแหลมอยู่ทางทิศใต้

4.ลักษณะภูมิประเทศ   แบ่งออกเป็น 3 เขต ได้แก่
1) เขตเทือกเขาทางตะวันตก
ทางด้านตะวันตกของทวีปซึ่งติดต่อกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก มีเทือกเขาแอนดีส ซึ่งเป็นเทือกเขาที่มีภูเขาไฟที่ยังทรงพลังอยู่หลายลูก ทอดเป็นแนวยาวขนานกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก จากเหนือสุดลงมาใต้สุด ตั้งแต่ปานามาเกาะเตียร์ราเดลฟิวโก  แนวเทือกเขานี้มีความยาวประมาณ 7,200 กิโลเมตร  นับเป็นเทือกเขาที่ยาวที่สุดในโลก และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำโอริโนโค และแม่น้ำแอมะซอน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญในทวีปอเมริกาใต้ มียอดเขาที่สูงที่สุด  ชื่อ อะคองคากัว (Acomcagua) สูงประมาณ 6,960  เมตรในประเทศอาร์เจนตินา เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือและใต้  ในเขตเทือกเขาแอนดีสช่วงที่เทือกเขาแยกตัวออกเป็น 2 แนว มีที่ราบสูงโบลิเวีย ซึ่งเป็นที่ราบสูงขนาดใหญ่ที่มีความสูงจากระดับมากเป็นที่สองของโลกรองจากที่ราบสูงทิเบต  และบนที่ราบสูงมีทะเลสาบสำคัญ ชื่อ  ทะเลสาบติติกากา  เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่ใช้เดินเรือได้ อยู่สูงที่สุดในโลก (3,810 เมตร)
2) เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ ประกอบด้วย
-ที่ราบลุ่มแม่น้ำโอริโนโค อยู่ทางตอนเหนือสุด มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาแอนดีส  ไหลผ่านที่ราบในเขตประเทศโคลัมเบีย และเวเนซูเอลา ลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
-ที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอน  เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่ใหญ่และมีประมาณน้ำมากที่สุดของโลก  มีเนื้อที่ประมาณ 7 ล้านกิโลเมตร มีความยาวประมาณ 6,437 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ 2 รองจากแม่น้ำไนล์ เป็นแม่น้ำที่ได้รับน้ำจากหลายสาขาที่มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาแอนดีส ที่ราบสูงกิอานาและที่ราบสูงบราซิล และไหลลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกในเขตประเทศบราซิล
-ที่ราบลุ่มแม่น้ำปารานา-ปารากวัย-อุรุกวัย อยู่ทางใต้ของที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ในเขตประเทศปารากวัย อุรุกวัยและอาร์เจนตินา บริเวณที่แม่น้ำทั้ง 3 ไหลมาบรรจบกันมีลักษณะเป็นอ่าวใหญ่ เรียกว่า  ริโอเดลาพลาตา (Rio de la Plata)
3)เขตที่ราบสูงภาคตะวันออก ประกอบด้วย
-ที่ราบสูงกิอานา อยู่ในเขตประเทศเวเนซุเอลา เฟรนซ์เกียนา ซรินาเม กายอานาและภาคเหนือของประเทศบราซิล
-ที่ราบสูงบราซิล อยู่ทางด้านตะวันออกของทวีปในเขตประเทศบราซิล ระหว่างลุ่มแม่น้ำแอมะซอนกับลุ่มแม่น้ำปารานาและปารากวัย เป็นที่ราบสูงที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่มาก
-ที่ราบสูงโตกรอสโซ อยู่ทางตะวันตกของที่ราบสูงบราซิลในเขตประเทศบราซิลและโบลิเวีย
-ที่ราบสูงปาตาโกเนียเป็นที่ราบสูงเชิงเขาแอนดีส อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอาร์เจนตินา

ลักษณะภูมิอากาศของทวีปอเมริกาใต้


ลักษณะภูมิอากาศของทวีปอเมริกาใต้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
1.ที่ตั้ง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตละติจูดต่ำ ดังนั้นเกือบทุกประเทศอยู่ในเขตร้อน ยกเว้น อุรุกวัย  อาร์เจนตินา ชิลีที่อยู่ในเขตละติจูกลาง หรืออยู่ในเขตอบอุ่น
2.ลักษณะภูมิประเทศ มีเทือกเขาแอนดีสวางตัวอยู่แนวเหนือ-ใต้ขนานกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก  จึงเป็นกำแพงขวางกั้นความชื้นและลมประจำที่พัดจากทะเล   ทำให้ดินแดนภายในทวีปบางบริเวณมีอากาศแห้งแล้ง เป็นเขตทุ่งหญ้าและทะเลทราย  ประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตละติจูดต่ำมีอากาศร้อน ยกเว้นบริเวณเทือกเขาและที่ราบสูงจะมีอุณหภูมิลดลงจะมีอากาศอบอุ่น เช่น โบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลัมเบีย ลาปาซ เมืองหลวงของประเทศโบลิเวีย
3.ลมประจำ พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาใต้อยู่ในเขตลมสงบบริเวณศูนย์สูตร และเขตอิทธิพลของลมสินค้าตะวันออกเฉียงเหนือและลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ชายฝั่งตะวันออกของทวีปมีฝนตกชุก  แต่ลมนี้ไม่ได้นำความชื้นเข้าสู่พื้นที่ภายในทวีป
4.กระแสน้ำ กระแสน้ำเย็นเวสต์วินด์  ไหลมาจากแถบขั้วโลกผ่านเลียบชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ คือ ชายฝั่งทะเลของประเทศชิลีและเปรูเรียกว่า กระแสน้ำเย็นฮัมโบลต์ หรือกระแสน้ำเย็นเปรู ทำให้ชายฝั่งด้านนี้ในฤดูร้อนไม่ร้อนมากนัก ทางด้านตะวันออกมีกระแสน้ำอุ่นบราซิลและกระแสน้ำเย็นฟอล์กแลนด์ไหลผ่าน

ลักษณะภูมิอากาศของอเมริกาใต้ แบ่งออกเป็น 8 เขต
1.เขตภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น (Tropical Rainforest Climate)  เป็นเขตที่มีอากาศร้อนและชุ่มชื้นตลอดปีพบในบริเวณเขตศูนย์สูตรแถบลุ่มแม่น้ำแอมะซอนและชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล  พืชพรรณธรรมชาติ เป็น ป่าดิบ เรียกว่า ป่าเซลวาส (Selvas)
2.เขตภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อนหรือสะวันนา  (Savanan Climate)  เป็นเขตที่มีอากาศร้อนตลอดปี มีฤดูแล้งสลับกับฤดูฝนพบในบริเวณลุ่มแม่น้ำโอริโนโคในประเทศโคลัมเบียและเวเนซุเอลา ที่ราบสูงกิอานาในประเทศเวเนซุเอลา ที่ราบสูงบราซิล   พืชพรรณธรรมชาติ เป็น ทุ่งหญ้าและป่าโปร่งทุ่งหญ้าในเขตลุ่มแม่น้ำโอริโนโคและที่ราบสูงกิอานา เรียกว่า ทุ่งหญ้ายาโนส (Llanos)  ทุ่งหญ้าในเขตประเทศบราซิล เรียกว่า ทุ่งหญ้าแคมโปส  ทุ่งหญ้าทางตอนใต้ของบราซิล ปารากวัยและตอนเหนือของอาร์เจนตินา เรียกว่า ทุ่งหญ้ากรันชาโก
3.เขตภูมิอากาศแบบทะเลทราย (Desert Climate) มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยน้อยกว่า 10 นิ้วต่อปี  ได้แก่ ทะเลทรายอะตากามา ทางชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในเขตประเทศเปรู และตอนเหนือของชีลี และทะเลทรายในเขตที่ราบสูงปาตาโกเนียทางตะวันออกของเทือกเขาแอนดีสในเขตประเทศอาร์เจนตินา
4.เขตภูมิอากาศแบบกึ่งทะเลทราย (Steppe Climate) ซึ่งอยู่ระหว่างเขตทะเลทรายกับเขตอบอุ่น  มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยน้อยกว่า 15 นิ้วต่อปี พบบริเวณตะวันออกของอาร์เจนตินาถึงที่ราบสูงปาตาโกเนียทางตอนใต้   พืชพรรณธรรมชาติ ทุ่งหญ้าสั้นๆ หรือทุ่งหญ้าสเตปป์
5.เขตภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Climate) มีอากาศร้อนแห้งแล้งในฤดูร้อน และมีอากาศอบอุ่นฝนตกในฤดูหนาวพบบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางของชิลี   พืชพรรณธรรมชาติ ไม้พุ่มมีหนาม ใบแหลมเรียวเล็ก เป็นมันเปลือกหนา เพื่อป้องกันการคายน้ำในฤดูร้อน
6.เขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น (Humid Subtropical Climate) มีอากาศอบอุ่นชุ่มชื้น ปริมาณน้ำฝนปานกลาง ประมาณ 750-1,500 มิลลิเมตรต่อปี  ได้รับอิทธิพลจากลมประจำที่พัดผ่านน่านน้ำนำกระแสน้ำอุ่นเข้าสู่ฝั่ง  พบบริเวณชายฝั่งตะวันออกของทวีป   พืชพรรณธรรมชาติ  เป็นป่าผลัดใบ และบริเวณภายในมีปริมาณน้ำฝนน้อยลง  พืชพรรณเป็นทุ่งหญ้ายาวเรียกว่า ทุ่งหญ้าปามปัส (Pampas) มีความสำคัญทางการเกษตรของประเทศปารากวัย อุรุกวัยและอาร์เจนตินา
7.เขตภูมิอากาศแบบภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก (Marine Westcoast Climate)  มีอากาศอบอุ่นชุ่มชื้นตลอดปี เพราะได้รับอิทธิพลจากลมประจำตะวันตก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 5,000 มิลลิเมตรต่อปี  พบบริเวณทางตอนใต้ของเขตภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนในประเทศชีลี  พืชพรรณธรรมชาติ ป่าผลัดใบกับป่าสน
8.เขตภูมิอากาศแบบภูเขาสูง มีอากาศเปลี่ยนแปลงไปตามความสูงของพื้นที่พบบริเวณแถบเทือกเขาแอนดีส

SA ภูมิอากาศ

ทรัพยากรและอาชีพของทวีปอเมริกาใต้

        1.การเพาะปลูก ที่สำคัญได้แก่
– กาแฟ  ประเทศที่ผลิตกาแฟในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ บราซิล โคลัมเบีย เอกวาดอร์  โดยเฉพาะบราซิล เป็นประเทศที่ส่งกาแฟออกจำหน่ายมากร้อยละ 50 ของโลก
– โกโก้ ได้จากเมล็ดกาเกา ใช้ทำช็อกโกเลต เครื่องดื่ม และขนมหวาน เป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้ ประเทศที่ผลิตได้มาก คือ บราซิลและเอกวาดอร์
– ข้าวโพด  เป็นพืชที่ปลูกมากและส่งออกของประเทศบราซิล รองลงมาได้แก่  อาร์เจนตินา  เวเนซุเอลา เปรูและโคลัมเบีย
– ข้าวสาลี ประเทศที่ผลิตได้มาก คือ อาร์เจนตินา บราซิล ชีลี
– อ้อย ปลูกมากในประเทศบราซิล
– กล้วย ปลูกมากในประเทศเอกวาดอร์
– ฝ้าย ปลูกมากในประเทศบราซิลและอาร์เจนตินา
2.การเลี้ยวสัตว์
ทวีปอเมริกาใต้เป็นทวีปที่มีทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์  ได้แก่ ทุ่งหญ้ายาโนส  ทุ่งหญ้าแคมโปสและทุ่งหญ้ากรันชาโก ส่วนทุ่งหญ้าปามปัสอยู่ในเขตประเทศอาร์เจนตินา อุรุกวัยและตอนใต้ของบราซิล สัตว์เลี้ยงที่สำคัญได้แก่
– โคเนื้อ ประเทศที่เลี้ยงโคเนื้อมาก คือ อาร์เจนตินา อุรุกวัย และบราซิล
– แกะ ประเทศที่เลี้ยงมากคือ อุรุกวัย เลี้ยงมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากออสเตรเลีย
– สุกร ประเทศที่เลี้ยงมาก คือ เปรู บราซิล
3.ป่าไม้และผลผลิตจากไม้
แหล่งป่าไม้เนื้อแข็งที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์และกว้างขวาง  คือ  ป่าเซลวาสในบริเวณแม่น้ำแอมะซอน แต่มีการนำมาใช้น้อย เพราะการคมนาคมขนส่งไม่สะดวกควินิน (Quinine) ใช้ทำเป็นยาป้องกันโรคมาลาเรีย ได้จากต้นซิงโคนา   ยูคาลิปตอล (Eucalyptol) จากต้นยูคาลิปตัส ใช้เป็นส่วนผสมของยาแก้ไอ   ยางพารา เป็นพืชดั้งเดิมของอเมริกาใต้   ยางไม้ (Chicle) ใช้ทำหมากฝรั่ง   ยางบาลาตา (Balata) ใช้หุ้มสายเคเบิลใต้น้ำ และหุ้มลูกกอล์ฟ   ฝาด (Tannin) ใช้ฟอกหนัง   บราซิลนัด (Brazil nut) ใช้เป็นอาหาร   ประเทศที่ผลผลิตไม้และผลผลิตจากป่าไม้ที่สำคัญ คือ บราซิล โคลัมเบีย และเปรู
4.การประมง
บริเวณทางชายฝั่งตะวันตกด้านมหาสมุทรแปซิฟิก  บริเวณประเทศเปรูและชิลี  เป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุมแห่งหนึ่งของโลก  เพราะเป็นบริเวณที่กระแสน้ำเย็นเปรูหรือกระแสน้ำเย็นฮัมโบลต์กับกระแสน้ำอุ่นใต้เส้นศูนย์สูตรไหลบรรจบกัน
5.การทำเหมืองแร่   อเมริกาใต้มีแร่ธาตุทีสำคัญหลายชนิด ได้แก่
– ทองแดง ประเทศที่ผลิตทองแดงได้เป็นอันดับ 1 ของโลก คือ ประเทศชิลี  อยู่ในแคว้นชูคีตมาตานอกจากนี้ยังมีประเทศเปรูและ    บราซิล
– เหล็ก ประเทศที่ผลิตได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลก คือ บราซิล  นอกจากนี้ยังประเทศเวเนซุเอลาโบลีเวียและชีลี
– ดีบุก ประเทศที่ผลิตได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากมาเลเซีย คือ โบลีเวีย  อยู่ในเขตที่ราบสูงอัลติพลาโน
– สังกะสี ผลิตได้มากในประเทศเปรู อาร์เจนตินา บราซิล
–  ทองคำ ประเทศที่ผลิตได้มาก คือ ประเทศบราซิล
– น้ำมันปิโตรเลียม  ประเทศที่ผลิตได้มาก คือ เวเนซุเอลา อยู่บริเวณรอบๆ  ทะเลสาบมาราไคโบ นอกจากนี้ยังมีในประเทศ บราซิล เอกวาดอร์  โบลิเวีย แต่มีปริมาณไม่มาก
6.การอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมในทวีปอเมริกาใต้ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบา  เป็นแปรผลผลิตทางการเกษตร   เช่น การผลิตน้ำตาล  อาหารกระป๋อง ประเทศที่มีอุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้าและมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  ได้แก่ บราซิลและอาร์เจนตินา เช่น การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า การกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี การผลิตรถยนต์ และอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองใหญ่หรือเมืองหลวง เช่น เซาเปาโล ริโอเดจาเนโร  บูเอโนสไอเรสฯลฯ
7.การค้าขาย   สินค้าออก ส่วนใหญ่ของประเทศต่างๆในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ วัตถุดิบและผลผลิตทางการเกษตร  ที่สำคัญคือ กาแฟ เนื้อสัตว์ ข้าวโพด กล้วย โกโก้ ฝ้าย น้ำมัน สินแร่เหล็กและทองแดง   สินค้าเข้า ส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรและเครื่องยนต์สำหรบการเกษตร ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์และสิ่งทอ   ในการค้ากับต่างประเทศเกือบทุกประเทศเสียดุลการค้าตลอดมา ยกเว้นประเทศบราซิล  เพราะเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ  และมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท  จนมีผลผลิตส่งเป็นสินค้าออก ส่วนเวเนซุเอลา เป็นประเทศที่ส่งน้ำมันดิบเป็นสินค้าออกรายใหญ่รายหนึ่งของโลก   ประเทศคู่การค้าสำคัญของประเทศต่างๆในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักรและประเทศในทวีปอเมริกาใต้ด้วยกัน
8.การคมนาคมขนส่ง
แม้ทวีปอเมริกาใต้จะมีอาณาเขตติดต่อเป็นผืนแผ่นดินเดียวกันกับทวีปอเมริกาเหนือ  แต่ระบบการคมนาคมขนส่งในทวีปยังหล้าหลังอยู่มาก  และกระจายไม่ทั่วถึงทุกส่วนของทวีป  เพราะประเทศส่วนใหญ่เป็นประเทศยากจนและด้อยพัฒนา  ประกอบกับการมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่งอยู่ทุกภูมิภาค กล่าวคือ มีภูเขาสูงที่ทุรกันดาร มีภูมิอากาศแห้งแล้งเป็นทะเลทราย  บริเวณที่มีการคมนาคมขนส่งสะดวกจึงกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ในเขตที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีสภาพ   ภูมิอากาศที่ไม่ร้อนหรือแห้งแล้งเกินไป ประกอบด้วย
1.ทางบก ประกอบด้วย
1.1 ทางรถยนต์ ทวีปอเมริกาใต้มีถนนสายหลักที่ใช้ติดต่อเชื่อมประเทศต่างๆ คือ  ทางหลวงสายแพนอเมริกัน (Pan-American Highway)  เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อจากประเทศสหรัฐอเมริกาลงมาถึงตอนใต้ของประเทศชีลี โดยมีเส้นทางตัดเชื่อมไปยังเมืองหลวงของประเทศต่างๆกว่า 17 เมือง  ส่วนประเทศที่มีการพัฒนาเส้นทางรถยนต์อยู่ในระดับดี ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล และชีลี
1.2ทางรถไฟ   ทางรถไฟในทวีปอเมริกาใต้ส่วนใหญ่เป็นสายสั้นๆ เชื่อมเมืองใหญ่หรือเมืองท่าระหว่างชายฝั่งกับที่ราบภาคใต้ ประเทศที่มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งทางรถไฟได้เจริญก้าวหน้ามาก ได้แก่ บราซิล อาร์เจนตินา เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางรถไฟในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ ริโอเดจาเนโร เซาเปาลู  ในประเทศบราซิล เมืองมอนเตวิเดโอในประเทศอุรุกวัย บูเอโนสไอเรส ในประเทศอาร์เจนตินา
1.3 ทางน้ำ    ทางแม่น้ำลำคลอง ที่ใช้ในการคมนาคมขนส่งได้ดี คือ แม่น้ำปารานา ซึ่งสามารถเดินเรือเชื่อติดต่อระหว่างเมืองบูเอโนสไอเรสในประเทศอาร์เจนตินากับเมืองต่างๆ  ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ  แม่น้ำแอมะซอนแม้จะกว้างและลึกพอที่จะให้เรือเดินทะเลขนาดใหญ่แล่นเข้าไปได้ภายในทวีปได้ไกลถึงเมืองมาเนาส์   ซึ่งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำประมาณ  1,600 กิโลเมตร  แต่ก็ไม่ค่อยได้ประโยชน์มากนัก  เพราะในเขตลุ่มแม่น้ำนี้มีประชากรอาศัยอยู่เบาบางมาก และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจน้อย
2.ทางทะเล  ทวีปอเมริกาใต้สามารถใช้เรือเดินสมุทร  ติดต่อกับทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรปได้สะดวก โดยอาศัยเมืองท่าด้านชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น เมืองเบแลง เรซิเฟ ริโอเดจาเนโร  ในประเทศบราซิล เมืองมอนเดวิเดโอ ในประเทศอุรุกวัย เมืองบูเอโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา และเมืองคารากัส ในประเทศเวเนซุเอลา ส่วนเมืองท่าทางด้านชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ เมืองคายาโอ  ในประเทศเปรู เมืองวัลพาไรโซ ประเทศชิลี
3.ทางอากาศ  ทวีปอเมริกาใต้มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าทึบ ภูเขาสูงและทะเลทราย  ประกอบแหล่งที่มีประชากรหนาแน่นอยู่ห่างไกลกัน  การคมนาคมขนส่งทางอากาศจึงมีความสำคัญมาก  ทุกประเทศพยายามพัฒนาการขนส่งทางอากาศให้ทั่วถึง ประเทศที่มีการคมนาคมขนส่งทางอากาศมาก ได้แก่ ประเทศบราซิลและอาร์เจนตินา  มีท่าอากาศยานภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ทันสมัยอยู่หลายแห่ง เพราะเป็นประเทศที่มีภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างดี

SA ทรัพยากร&อาชีพ
SA สังคมวัฒนธรรม

ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของอเมริกาใต้


ทวีปอเมริกาใต้เป็นแหล่งอารยธรรมดั้งเดิมของชาวอินเดียนเผ่าอินคา เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ของประเทศเอกวาดอร์ เปรู โบลิเวียและทางตอนเหนือของประเทศชีลิในปัจจุบัน อาณาจักรนี้มีความเจริญสูงสุดประมาณตอนกลางของพุทธศตวรรษที่ 20  สิ่งที่แสดงถึงอารยธรรมของพวกอินคา ได้แก่ การนำหินมาปูถนน การทำสะพานแขวนด้วยเชือกเพื่อทอดข้ามลำธาร แม่น้ำและหุบเขาแคบๆ การสกัดหินภูเขาออกมาเป็นแท่งๆ   เพื่อนำไปก่อสร้างที่อยู่อาศัย การปรับพื้นที่เนินเขาให้เป็นขั้นบันไดเพื่อใช้เพาะปลูกการขุดคลองเพื่อส่งน้ำเพื่อการเกษตร   ใน พ.ศ.2075 อาณาจักรอินคาต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสเปน สเปนจึงมีอำนาจปกครองดินแดนอันกว้างใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์นี้ การที่สเปนเข้ามามีอิทธิพลในทวีปอเมริกาใต้ ทำให้มีคำเล่าลือว่าทวีปอเมริกาใต้เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทองคำ เงินและโลหะอื่นๆ ซึ่งเป็นดึงดูดใจให้ผู้คนในประเทศสเปนและโปรตุเกส  พากันเดินทางเข้ามาแสวงโชคลาภในทวีปนี้มากขึ้น ดังนั้นทุกภูมิภาคในทวีปนอเมริกาใต้จึงตกเป็นอาณานิคมของสเปน ยกเว้นบราซิลเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส   ปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ชาวอาณานิคมได้ต่อสู้จนได้รับเอกราช และได้สถาปนาเป็นประเทศเอกราชเกือบทั้งหมด ยกเว้นเฟรนซ์เกียนาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและเกาะฟอล์กแลนด์เป็นดินแดนในปกครองของอังกฤษ

ลักษณะทางด้านประชากร
1.เชื้อชาติ ประกอบด้วยกลุ่มชน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มชาวอินเดียน กลุ่มชาวผิวขาวและกลุ่มชาวผิวดำ
1.1 กลุ่มอินเดียน เป็นชนเผ่าดั้งเดิม  ที่สร้างสรรค์อารยธรรมในทวีปอเมริกาใต้เมื่อประมาณ 5,000 ปี ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแถบที่สูงของเทือกเขาแอนดีส และบางส่วนอาศัยอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอนและชายฝั่งทะเลแคริบแบียน  เมื่อชาวผิวขาวได้เข้ามามีอิทธิพลในทวีปอเมริกาใต้ก็บังคับให้ชาวอินเดียนทำงานในไร่นาและเหมืองแร่ของตน ต่อมามีผู้หญิงอินเดียจำนวนมากได้แต่งงานกับคนผิวขาว ทำให้มีลูกเลือดผสมเรียกว่า เมสติโซ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ ส่วนชาวอินเดียเลือดบริสุทธิ์ปัจจุบันมีอยู่จำนวนน้อยในบางประเทศ เช่น เปรู โบลิเวีย เอกวาดอร์ บราซิล
1.2 กลุ่มผิวขาว ซึ่งอพยพเข้าไปตั้งหลักแหล่งเมื่อประมาณ พ.ศ.2400 ได้แก่ ชาวสเปน โปรตุเกส  อิตาลี เยอรมัน และโปแลนด์ ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวญี่ปุ่น  เป็นพวกผิวเหลืองได้อพยพเข้าสู่ทวีปอเมริกาใต้เป็นจำนวนมาก
1.3 กลุ่มผิวดำ  จากทวีปแอฟริกาได้อพยพเข้าในฐานะใช้แรงงานในไร่นาและเหมืองแร่ของพวกผิวขาวในประเทศบราซิลและโคลัมเบีย ต่อมาคนผิวดำได้แต่งงานกับคนผิวขาว  และมีลูกเลือดผสมเรียกว่า มูแลตโต ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศบราซิลและโคลัมเบีย
2.ภาษา ประเทศต่างๆในทวีปอเมริกาใต้ ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ ยกเว้นประเทศบราซิลใช้ภาษาโปรตุเกส ประเทศกายอานา ใช้ภาษาอังกฤษ เฟรนซ์เกียนา ใช้ภาษาฝรั่งเศส และซูรินาเม  ใช้ภาษาดัตช์
3.ศาสนา  ประชากรร้อยละ 90 ของทวีปอเมริกาใต้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก  ที่ชาวสเปนและโปรตุเกสเป็นผู้นำเข้ามาเผยแผ่ ส่วนนิกายโปรเตสแตนต์มีผู้นับถือน้อย
4.การศึกษา ประเทศที่มีการศึกษาพัฒนามากที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ อาร์เจนตินา ชีลี  กายอานา  อุรุกวัย และซูรินาเม ประชากรของประเทศเหล่านี้มีอัตราการอ่านเขียนได้สูง  เพราะเป็นประเทศมี่มีเศรษฐกิจค่อนข้างดี   จึงสามารถจัดการศึกษาบังคับแบบให้เปล่าได้ทั่วถึง ส่วนประเทศอื่นๆ มีประชากรอ่านออกเขียนได้ยู่ในอัตราที่ต่ำกว่านี้
5.การกระจายและความหนาแน่นของประชากร
ทวีปอเมริกาใต้มีประชากรทั้งหมด 331 ล้านคน (พ.ศ.2541) เฉลี่ยความหนาแน่นของประชากร 18.6 คนต่อตารางกิโลเมตร จัดเป็นทวีปที่มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง
บริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง
– บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ซึ่งเป็นเขตป่าดิบที่มีการคมนาคมติดต่อกันได้ยากลำบาก มีอุทกภัยเกิดขึ้นเสมอและมีสัตว์ป่าที่เป็นอันตรายและโรคภัยไข้เจ็บชุกชุม
– บริเวณที่ราบสูงทั้งในเขตร้อนและอบอุ่น มีอากาศแห้งแล้งเป็นทะเลทราย หรือทุ่งหญ้าเขตร้อนมีดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ บริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น เป็นบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเหมาะแก่การดำเนินชีวิต  มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และมีการคมนาคมขนส่งสะดวก ได้แก่
– บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกตั้งแต่ปากแม่น้ำแอมะซอนจนถึงปากอ่าวริโอเดอลาพลาตา
– เขตที่ราบสูงของเทือกเขาแอนดีสในประเทศโคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู
– เขตเมืองหลวงและเมืองใหญ่ของประเทศต่างๆในทวีปอเมริกาใต้

อยากย้อนกลับไปอ่านตั้งแต่แรกไหม?

bottom of page